ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง /

เพียสิง จะเลินสิน

ตำรับอาหารพระราชวังหลวงพระบาง / เพียสิง จะเลินสิน ; จินดา จำเริญ, แปลจากภาษาลาว - พิมพ์ครั้งที่ 1 (ปกแข็ง) - กรุงเทพฯ : ผีเสื้อลาว, 2553. - 400 หน้า : ภาพประกอบ ; 23 ซม.

เพียสิงและตำรับอาหารลายมือของท่าน -- อุปนิสัยการบริโภคของฅนลาวและความเห็นเกี่ยวกับอาหาร -- ศัพท์ที่ใช้ในการทำครัว และเครื่องครัวของลาว -- เครื่องปรุง และข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบอาหาร -- ข้าวและอาหารจำพวกแป้ง -- น้ำปลาและปาแดก -- เครื่องปรุงที่รสเป็นกรดหรือมีรสเปรี้ยวบางชนิด -- ผลไม้อื่นๆ ที่ใช้ในการประกอบอาหาร -- ดอกไม้ที่บริโภคได้ -- ผักสลัด ผักวงศ์กะหล่ำ และใบไม้ที่บริโภคได้ -- พืชวงศ์หอม -- ถั่ว -- ผักนานาชนิด -- เห็ดและเห็ดราที่บริโภคได้ -- สมุนไพร -- น้ำจิ้มและเครื่องปรุงรส -- การชั่ง ตวง ของลาว -- ตำรับอาหารลาวของเพียสิง -- ของหวานลาว

หนังสือนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความพยายามโดยแท้ เริ่มแต่ เพียสิง ข้าราชบริพารราชสำนักหลวงพระบาง ได้บันทึกตำรับอาหารในพระราชวังของลาว ด้วยมุ่งหวังจะให้เป็นบันทึกแห่งชาติลาวด้านวัฒนธรรมการกิน และประสงค์จะได้พิมพ์เผยแพร่เพื่อนำเงินรายได้จากการนี้ไปบูรณะบุษบกพระบาง ครั้นเมื่อใกล้ถึงวาระสุดท้ายในชีวิต เพียสิงจึงมอบหมายให้ภริยานำสมุดบันทึกต้นฉบับลายมือตำรับอาหารขึ้นทูลเกล้าฯถวายมกุฎราชกุมาร ด้วยหวังว่าจะทรงช่วยให้ความปรารถนาในวาระสุดท้ายแห่งชีวิตที่มีต่อพระราชอาณาจักรลาวแห่งหลวงพระบางสัมฤทธิ์ผล จวบจนกระทั่ง อแลน เดวิดสัน ได้รับต้นฉบับดังกล่าวนั้นมา และเพียรพยายามร่วมกับชาวลาวอพยพช่วยกันแปลและเขียนรูปประกอบ จนจัดพิมพ์เป็นหนังสือสำคัญเล่มหนึ่ง พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.๑๙๘๑

ในปี ๑๙๘๖ สำนักพิมพ์กะรัต (หรือผีเสื้อในปัจจุบัน) ได้หารือกับอแลน เดวิดสัน เพื่อแปลและพิมพ์หนังสือนี้เป็นภาษาไทย

บัดนี้ได้เวลา แต่ก็นับวันย้อนไปถึง ๒๔ ปี

เพียสิงถึงแก่อนิจกรรมแล้ว อแลน เดวิดสัน ก็จากไปแล้ว---ลายมือของเพียสิงยังอยู่ ผลงานหนังสืออย่างมีรสนิยมจากความพยายามของอแลน เดวิดสัน ยังคงอยู่ และส่งต่อมรดกมาถึงสำนักพิมพ์ผีเสื้อให้พิมพ์หนังสือเล่มสำคัญในฐานะมรดกของโลกอีกเล่มหนึ่ง

สำนักพิมพ์ผีเสื้อประกาศแขนงภาษาลาวในนามผีเสื้อลาว หรือออกเสียงสำเนียงลาวว่า ‘แมงกะเบื้อ’ นับจากหนังสือเล่มนี้ ด้วยหมายจะเสาะหาหนังสือมีค่าเล่มอื่นๆ จากภาษาลาวเพื่อแปลเป็นภาษาไทยในวาระอันควร

หนังสือเล่มนี้มีค่ามิใช่เพียงในฐานะตำรับอาหาร แต่ยังในฐานะวัตถุบันทึกทางประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของชาติลาว ซึ่งมิได้มีบรรยายไว้ ณ ที่แห่งใด สิ่งนั้นคือ ความเรียบง่ายอย่างสามัญของตำรับอาหารในพระราชวังหลวงพระบาง จนกล่าวกันว่า ฅนลาวกินอย่างไรเจ้าก็กินอย่างนั้น เจ้าลาวในพระราชวังก็เสวยเช่นเดียวกับฅนลาวทั่วไป หนังสือเล่มนี้จึงเป็นบันทึกแทนชาวลาวทุกระดับชั้น และเป็นบันทึกอันอมตะไม่เปลี่ยนแปลง แม้การปกครอง การเมือง จะกลายไปเป็นอื่นจากเดิม

การแปลและพิมพ์หนังสือเล่มนี้ ส่วนสำคัญคือตำรับอาหารลาว ผู้แปลภาคภาษาลาวถ่ายทอดการออกเสียงและสะกด ตลอดจนรูปประโยคจากลายมือของเพียสิงให้ใกล้เคียงภาษาลาวที่สุด และจากการศึกษา สอบถาม ได้ความรู้ว่าสำเนียงและคำศัพท์หลวงพระบางหลายต่อหลายคำเหมือนภาษาทางใต้ของไทย ตั้งแต่นครศรีธรรมราชถึงสงขลา สิ่งนี้จึงน่าสนใจค้นคว้าต่อไป

อย่างไรก็ตาม บทความนำเรื่องในเล่มก็ทำให้ตำรับอาหารลาวของเพียสิง สมบูรณ์แบบที่สุด ความสามารถอันยอดเยี่ยมในเชิงค้นคว้าด้านศิลปวัฒนธรรมการกินของอแลน เดวิดสัน นับว่าเป็นเลิศ หนังสือนี้ฉบับภาษาอังกฤษจึงได้รับยกย่องสืบมาจนปัจจุบัน

สำนักพิมพ์แมงกะเบื้อขอขอบคุณอาจารย์พอนสวัน พิลาวัน แห่งมะหาวิทะยาไลสุพานุวง ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ได้ช่วยเหลือ ถ่ายเสียงภาษาลาว อีกทั้งอธิบายข้อสงสัยอันเกี่ยวกับตำรับอาหารลาวแห่งหลวงพระบางจนกระจ่าง

หนังสือนี้เป็นประจักษ์พยานแห่งความพยายามและมุ่งมาดปรารถนา จะทำหนังสือดีของสำนักพิมพ์ในตระกูลผีเสื้อโดยแท้

สำนักพิมพ์แมงกะเบื้อ
(ผีเสื้อลาว)
สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๓

9789741403899


การปรุงอาหาร--ลาว
อาหาร--ลาว
บริโภคนิสัย--ลาว

641.509594 / พ952ต
Share this title:
ห้องสมุดมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ฯ
๑๒๘๑ (ค่ายพระรามหก) ถนนเพชรเกษม ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ๗๖๑๒๐
โทรศัพท์ ๐๓๒.๕๐๘.๔๔๔-๕, ๐๘๑.๙๔๑.๒๑๘๕ โทรสาร ๐๓๒.๕๐๘.๐๓๙ (ปิดทำการวันพุธ)
อีเมล [email protected], [email protected]